เวลาที่ได้คุยกันเรื่องการสื่อสารและวิธีการสื่อสาร ทั้งกับเคสที่มารับการบำบัด CBT เคสที่มาปรึกษาปัญหาการสื่อสาร เพื่อนร่วมงานและคนอื่น ๆ สิ่งหนึ่งที่มักจะพบเจอบ่อย ๆ คือหลายคนมักจะไม่ค่อยกล้าพูดแสดงความต้องการของตัวเองออกไป ทั้งสิ่งที่ตนต้องการและไม่ต้องการ
ลองคิดตามดูนะคะว่า ถ้าเราไม่สามารถพูดสิ่งที่เราต้องการหรือไม่ต้องการออกไปได้ ในหลาย ๆ สถานการณ์ หรือบริบทต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เราจะรู้สึกอย่างไร และชีวิตเราจะเป็นอย่างไร
ผลที่ได้พบเจอก็คือ จะไม่มีความสุขบ้าง มีความเครียดบ้าง มีความรู้สึกเสียใจ เศร้า กังวล อึดอัดบ้าง ล้วนมีแต่ความรู้สึกในทางลบ รวมถึงปัญหาที่ติดขัดอยู่หรือสถานการณ์ที่ทำให้วุ่นวายใจก็ไม่ได้คลี่คลายไปด้วย หรือยังต้องยอมตกอยู่ในสถานการณ์ที่ร้าย ๆ ต่อไป
ตัวผู้เขียนเองก็เป็นคนขี้เกรงใจและเคยคิดว่าตัวเองเป็นคนไม่ค่อยแสดงออกถึงความต้องการของตัวเอง ไม่อยากปฎิเสธคน หรือที่เรียกกันว่า ไม่assertive แต่เพื่อนร่วมงานที่เป็นจิตแพทย์ท่านหนึ่งเคยทักว่า ผู้เขียนเป็นคน assertive ต่างจากคนไทยทั่วไป พอหาความรู้เพิ่มเติม และได้เรียนและฝึกทำเคสกับอาจารย์ ศ.ดร.ดาราวรรณ ต๊ะปินตา ที่เป็น Supervisor ของผู้เขียนสมัยเรียน CBT ที่จุฬาฯ ทำให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้นว่าเราก็เป็นคน assertive อยู่
Assertiveness คือ การมีความมั่นใจที่จะกล้าแสดงออกถึงความคิด ความรู้สึก ความต้องการ ในแบบที่ตรงไปตรงมาและสุภาพ “ไม่มีความโกรธ” โดยที่เคารพในสิทธิและความเห็นของผู้อื่น รวมถึงผลลัพธ์ที่ต้องการคือให้เกิดผลที่ดีต่อทั้งสองฝ่าย เราไม่เดือดร้อนและอีกฝ่ายก็ไม่เดือดร้อน หรือเราได้ในสิ่งที่ต้องการและอีกฝ่ายก็ได้ในสิ่งที่ต้องการเช่นกัน
คนที่มี Assertiveness จะตระหนักในสิทธิของตัวเองว่า
เรามีสิทธิที่จะ ปฏิเสธ ได้
เรามีสิทธิที่จะ ให้ความสำคัญกับความต้องการของตนเอง
เรามีสิทธิที่จะ แสดงออกถึงความรู้สึกของตนเอง ในรูปแบบที่เหมาะสม โดยไม่ก้าวล่วงสิทธิคนอื่น
เรามีสิทธิที่จะ รับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง
เรามีสิทธิที่จะ ไม่ต้องอธิบายให้คนอื่นเข้าใจตัวเรา
เรามีสิทธิที่จะ เลือกลำดับความสำคัญของสิ่งที่เราจะทำ
เรามีสิทธิที่จะ เคารพตัวเอง
เรามีสิทธิที่จะ แสดงออกถึงความคิดความรู้สึกและความต้องการของตนเอง โดยไม่รู้สึกผิด
เรามีสิทธิที่จะ เป็นตัวของตัวเอง
เราจะเข้าใจ Assertiveness ได้มากขึ้น หากลองเทียบกับสองขั้วที่ตรงข้ามกับ Assertiveness คือความก้าวร้าว Aggression และ ความไม่กล้าแสดงความต้องการออกไป ซึ่งเรียกว่า Unassertiveness
Aggression ก็คือการแสดงออกถึงความต้องการของตนเอง และปกป้องสิทธิตนเอง “อย่างมีโทสะ” โดยไม่คำนึงถึงสิทธิของผู้อื่น คิดว่าสิทธิของตนเองเท่านั้นที่สำคัญ และวิธีการแสดงออก ก็ทำด้วยลักษณะที่ไม่เป็นมิตร ข่มขู่ ดุดัน ควบคุมบังคับ จะเอาให้ได้ โดยที่ไม่สนใจว่าใครจะเดือดร้อนหรือไม่อย่างไร
แล้วเพราะอะไรบางคนถึงแสดงออกแบบนี้ แทนที่จะ assertive?
นักจิตบำบัดที่มีผลงานมากมายอย่าง Stephen Palmer และ Professor Windy Dryden ได้อธิบายถึงวิธีคิด ความเชื่อ ของคนที่แสดงออกแบบก้าวร้าวไว้ 9 อย่าง คือ
1. ต้องชนะเท่านั้นถึงจะโอเค จะแพ้ไม่ได้
2. ถ้าฉันไม่แสดงออกแบบแรง ๆ ก็คงไม่มีใครฟังฉันหรอก
3. โลกนี้มันอยู่ยาก ต้องแรงต้องก้าวร้าวเท่านั้นถึงจะก้าวไปข้างหน้าได้
4. ถ้าเราประณีประณอม นั่นคือเราแพ้แล้ว
5. ฉันต้องการสร้างผลกระทบวงกว้าง ถ้าไม่ก้าวร้าวไม่แรง แล้วจะสร้างอิมแพคได้ยังไง
6. วิธีที่ฉันต้องการมันถูกที่สุด ต้องทำตามวิธีของฉันเท่านั้นมันถึงจะใช่
7. กับบางคน ต้องก้าวร้าวเท่านั้นถึงจะคุยกันรู้เรื่อง
8. ฉันจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าฉันคือฝ่ายถูก
9. โลกนี้ต้องมีความยุติธรรมสิ ถ้าใครมาแสดงความไม่ยุติธรรมล่ะก็ มันเป็นเรื่องที่รับไม่ได้
ซึ่งถ้าจะวัดว่า ตกลงเรา assertive หรือเรา aggressive ให้สังเกตที่เจตนา ว่าเราตั้งใจจะบอกกล่าว ความรู้สึก ความต้องการของเรา หรือเราต้องการจะยัดเยียด บังคับให้อีกฝ่ายทำตาม แล้วแนวโน้มของผลที่จะเกิดขึ้น มันจะเป็นไปทางไหน เช่น จะประณีประณอม พบกันครึ่งทาง หรือจะไปในทางที่จะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกแย่
“ความเห็นของฉัน...ก็ไม่ได้มีค่าอะไร พูดไปก็เท่านั้น”
Unassertiveness หมายถึง การยอมละเมิดสิทธิตัวเอง โดยไม่ยอมแสดงความต้องการและความรู้สึกที่แท้จริงออกไป หรือแสดงออกไปในลักษณะที่ลังเล เขินอาย ไม่มั่นใจ ทำให้อีกฝ่ายที่รับสารก็ไม่แน่ใจว่าตกลงคนคนนี้ต้องการอะไรกันแน่ หรือต้องการสิ่งนั้นจริง ๆ หรือเปล่า อาจมองว่า ความเห็นคนอื่นมีน้ำหนักกว่า สิ่งที่คนอื่นต้องการมันสำคัญกว่า และการแสดงออกเวลาพูด ก็จะดูสุภาพมากจนเกินไป เวลาที่แสดงออกแบบ unassertive ในบางครั้งก็ขึ้นกับสถานการณ์ เราต้องประเมิณว่า เราเป็นคน unassertive จริง ๆ (เป็นแบบนี้ในหลาย ๆ สถานการณ์) หรือว่าเป็นเฉพาะบางสถานการณ์ (เช่น กับเจ้านาย กับคนที่เคารพนับถือ)
Self-esteem ที่น้อยไป ทำให้เป็นปัญหา
มองภายนอกเหมือน Aggression กับ Unassertiveness แตกต่างกันมากก็จริง เพราะอยู่คนละขั้ว แต่จริง ๆ ก็มาจากรากเดียวกันคือ Self-esteem ของคนคนนั้น เช่น เราเลี่ยงที่จะขัดแย้งกับแฟนเพราะกลัวเขาจะทิ้งเราไป ถ้าเราแสดงความต้องการออกไป เขาก็อาจจะทิ้งเราได้เพราะเราก็ไม่ใช่คนที่ควรค่ากับความรักสักเท่าไร กลัวว่าสิ่งที่ห่วงจะเกิดขึ้น จึงไม่กล้าแสดงความรู้สึกและความต้องการ
หรือเพื่อนร่วมงานวิจารณ์งานของเรา แต่แทนที่เราจะรับฟังและอธิบายความคิดของเราในเรื่องผลงาน กลับเลือกใช้คำพูดที่รุนแรงโต้ตอบกลับไปเพื่อพิสูจน์ว่าเราถูกและคำติชมของเขาไม่ถูก โดยมีความคิดความเชื่อว่า ถ้าเรายอมรับคำติชมหรือคำวิจารณ์จากผู้อื่น แปลว่าเราห่วยและอ่อนแอ ดังนั้นในบางคนที่มีความ unassertive และชื่นชมคนที่ก้าวร้าวว่า "เขาดูเข้มแข็งดีจัง เขาดูแรงดีอะ ชอบ" ก็อยากให้ลองพิจารณาใหม่เพราะคนนั้นอาจมีปัญหาด้าน Self-esteem ไม่ต่างจากเรา
มีหลายปัจจัยที่ทำให้คนคนหนึ่งไม่ assertive ซึ่งส่วนใหญ่คือ “ความกลัว” ในเรื่องต่าง ๆ กัน โดยเฉพาะความกลัวในผลที่จะตามมาจากบริบทต่าง ๆ และกลัวว่าจะรับมือกับผลที่ตามมานั้นไม่ได้
คุณ Paul A. Hauck นักจิตวิทยาคลีนิคและมีความเชี่ยวชาญเรื่อง assertiveness ได้แบ่งความกลัวออกเป็นรูปแบบต่าง ๆ กัน คือ
กลัวบาดเจ็บ: ถ้าแสดงออกถึงความต้องการ/ไม่ต้องการออกไปก็อาจจะถูกทำร้ายร่างกายได้ หรือหากโดนอยู่แล้วก็อาจจะหนักกว่าเดิม เช่นในสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว
กลัวความล้มเหลว: ถ้าแสดงออกถึงความต้องการออกไป เช่น บอกว่า อยากจะเรียนต่อ อยากจะทำอาชีพหนึ่ง แต่ถ้าบอกไปแล้ว เกิดทำไม่ได้หรือล้มเหลวขึ้นมา ก็คงจะรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ จึงไม่แสดงออก รวมถึงไม่ลงมือทำสิ่งที่ต้องการด้วย (ไม่เรียนต่อ ไม่สมัครงานที่อยากทำ)
กลัวทำร้ายความรู้สึกอีกฝ่าย: กลัวว่าถ้าแสดงออกไปแล้วอีกฝ่ายรับไม่ได้ หรือรู้สึกแย่ ๆ เราก็จะรู้สึกแย่ไปด้วย ความสัมพันธ์ก็จะเสียได้ เช่น เพื่อนมีกลิ่นตัว เราอยากให้เขาลองไปรักษาหรือดูแลตัวเองมากขึ้น แต่ถ้าบอกไป เพื่อนอาจจะเสียใจ อาจบาดหมางกัน สู้ไม่บอกดีกว่า
กลัวถูกปฎิเสธ: กลัวว่าถ้าแสดงออกไปแล้วถูกปฏิเสธกลับมา เช่น การต้องฝืนทำตามใจคู่รักมาก ๆ เพราะคิดว่าถ้าแสดงออกว่าตนเองต้องการอะไร เขาอาจจะเปลี่ยนใจไม่รักเรา จึงต้อง unassertive เพื่อให้เขายังรักเราอยู่
Prof.Peter Trower อาจารย์ด้านจิตวิทยาคลีนิค/นักจิตบำบัด CBT และคณะ ได้กล่าวเพิ่มเติมไว้ในหนังสือ Cognitive Behavioral Counselling in Action ไว้ว่า
วิธิคิดที่ต้องด่าไว้ก่อน: มีวิธีคิดบางอย่างที่มักจะทำให้โทษและว่าคนอื่น คิดว่าเพราะคนอื่นที่ทำให้ตนเองอยู่ในสภาวะวุ่นวายสับสนหรือลำบากเดือดร้อน จึงต้องด่าว่า แทนที่จะสื่อสารว่าสิ่งที่ต้องการคืออะไร เช่น แม่อยากให้ลูกมาช่วยล้างจาน แทนที่จะบอกว่ามาช่วยกันล้างจาน แต่กลับด่าว่า ไอ้เด็กขี้เกียจ เล่นเกมส์ทั้งวัน ไม่ช่วยหยิบจับอะไรเลย ซึ่งแทนที่จะได้บอกกล่าวความต้องการ กลายเป็นอย่างอื่นแทนที่อาจไม่เกิดประโยชน์ใด
ความรู้สึกผิด: กลัวว่าการที่แสดงออก หรือบอกความต้องการ จะทำให้ดูเป็นคนเห็นแก่ตัว หรืออาจมองว่า เราไม่มีสิทธิที่จะทำตามใจตัวเองได้ขนาดนั้น เพราะเราไม่มีค่าอะไรที่จะทำได้
กลัวว่าจะไปไม่เป็น: ถ้าบอกความต้องการไป แล้วอีกฝ่ายมีปฏิกิริยากลับมา แบบไหนสักอย่างที่เราไม่รู้ แล้วเราจะไม่รู้ด้วยว่าจะโต้ตอบกลับอย่างไร ซึ่งตอนนั้นเราคงจะแย่แน่ ๆ ทำอะไรไม่ถูกแน่ ๆ ก็เลยไม่พูดความต้องการน่าจะดีกว่า
กลัวจะควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้: ห่วงว่าแทนที่จะสื่อสารถูกต้อง จะกลายเป็นพูดอะไรไม่ดี ๆ ออกไป ก็เลยไม่พูดเสียเลย
มองว่าสถานการณ์ที่แย่ ๆ นั้นเกิดจากตัวเรา: เช่น อยากบอกให้คนรักพูดจาดี ๆ ด้วย แต่กลับมองว่าที่เขาโมโหใส่และพูดจาไม่ดี เป็นเพราะเราเองที่ผิด ที่ทำให้เขาอารมณ์ไม่ดี ดังนั้นแทนที่จะบอกให้เขาปฏิบัติกับเราดี ๆ กลายเป็นมาคิดว่าเราควรจะแก้ไขความผิดตนเองอย่างไร หรือว่าจะเลี่ยงเหตุการณ์นั้นอย่างไรไม่ให้เขาโมโหอีก ทั้งที่เราอาจไม่ใช่สาเหตุของความโกรธของเขาด้วยซ้ำ หรือไม่ใช่สาเหตุที่เขาจะมาพูดจาไม่ดีกับเรา
ยึดกับคุณสมบัติบางอย่าง: อาจมีภาพของคุณสมบัติของคนแบบหนึ่งไว้ในใจ เช่น คนดีต้องใจกว้างกับทุกคน ต้องพูดเพราะ และอยากจะรักษาภาพนั้นไว้ หรืออยากจะเป็นแบบนั้น ถ้าความ assertive ไม่ได้เป็นคุณสมบัติหนึ่งของภาพนั้น ก็จะมองว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นคน assertive ก็ได้ หรืออาจมองว่าคน assertiveness เป็นคนชอบไม่มีน้ำใจ ไม่เสียสละ เห็นแก่ตัว ถ้าเราทำแบบนั้นเราก็จะเป็นคนนิสัยแบบที่เราไม่อยากจะเป็น
Dr. Arthur Lange และคณะ ผู้เชี่ยวชาญ CBT และ assertiveness ได้เพิ่มเติมอีกสองสามสาเหตุคือ การไม่มีตัวอย่างของคนที่ assertiveให้ดูเป็นตัวอย่าง จึงนึกไม่ออกว่าต้องทำอย่างไร หรือได้เคยลองพยายาม assertive แล้วแต่ไม่ได้ผล จึงคิดว่าตนเองคงจะไม่ใช่คน assertive ได้แน่ ๆ หรือคิดว่าเป็นคุณสมบัติที่ติดตัวมาแต่กำเนิด ฝึกใหม่ไม่ได้ ก็เลยไม่ทำ
การเป็นคน assertive ไม่ได้แปลว่าเราจะได้ในสิ่งที่ต้องการทุกครั้ง เช่น ถ้าช่วงปีใหม่ เพื่อนบ้านในซอยมีการจุดพลุเสียงดังตลอดวันคืน แล้วเราแสดงความ assertive พูดจาสุภาพถูกต้องตามวิธีการสื่อสารว่า เรารู้สึกไม่สบายใจที่มีการจุดพลุเพราะน้องหมาของเรากลัวมาก และต้องการให้เพื่อนบ้านช่วยจุดพลุให้น้อยลง หรือเลิกเล่นให้เร็วขึ้น ไม่ใช่เล่นทั้งกลางวันกลางคืน ก็ไม่ได้หมายความว่าอีกฝ่ายจะต้องทำตามเสมอไป แต่ในบางกรณีการ assertive ออกไป เราก็ได้สิ่งที่ต้องการได้ และการ assertive ก็ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนจะเกรงใจเรามากขึ้น หรือมันจะแก้ปัญหาทุกอย่างของเราได้
การฝึกให้มีทักษะ Assertiveness จะช่วยสร้างทักษะการสื่อสาร และเพิ่มความมั่นใจในตนเองมากขึ้น อีกทั้งจะช่วยให้เราออกจากสถานการณ์ที่เราไม่ต้องการได้ แม้จะไม่ทุกครั้งก็ตาม แต่ดีกว่าไม่ได้ลองเลย และยังช่วยลดความรู้สึกว่า เราไม่สามารถทำอะไรกับชีวิตเราได้อีกแล้ว เราหมดหวังแล้ว ออกไปได้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากในการดำรงชีวิตในสังคม
ดร. แอรอน เบค (Aaron Beck, MD) บิดาแห่ง CBT ได้กล่าวไว้ว่า "Assertion is an effective antidote to depression" "การแสดงออกถึงความต้องการของตัวเองอย่างมั่นใจ เป็นยาที่มีประสิทธิภาพในการต้านโรคซึมเศร้า"
เราสามารถฝึกให้มีความ Assertiveness มากขึ้นได้ แต่ควรบ่งชี้ให้ได้ว่า ความเชื่อ ความคิด อารมณ์ความรู้สึก และพฤติกรรมที่เป็นอุปสรรคไม่ให้เรา assertive คืออะไร ซึ่งเป็นขั้นตอนแรก ๆ ส่วนการเรียนรู้วิธีการสื่อสารที่ถูกต้องจะเป็นขั้นตอนหลังที่ตามมา หากเรียนรู้วิธีสื่อสารอย่างเดียว ไม่แก้ที่ต้นเหตุด้วย ก็จะเป็นการแก้ไขที่ไม่ครบถ้วนและไม่ยั่งยืน ดังนั้น ถ้าเราสามารถแก้ความเข้าใจผิด ๆ ด้าน assertiveness ได้ บ่งชี้อุปสรรคได้ มีการวางแผนเพื่อให้ฝึกจากสถานการณ์ที่ง่ายก่อน จนค่อย ๆ ยากขึ้น และปรับพฤติกรรมให้นำไปใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม ก็จะค่อย ๆ เกิดความ assertive ขึ้นมาได้
แม้ในสังคมไทยอย่างพวกเราที่มีความเกรงใจกันอยู่มาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เกรงใจแล้วจะต้องไม่ assertive เราสามารถยังเกรงใจและก็เป็นคน assertive ได้ด้วย อย่างที่บอกว่า ขึ้นกับเจตนาของเรา วิธีการของเรา การเคารพสิทธิตัวเองและผู้อื่น และความต้องการทำให้ผลลัพธ์ที่ทำให้ win-win ทั้งสองฝ่าย เพื่อที่เราก็จะได้มีชีวิตที่มีความสมดุลย์มากขึ้น และอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุขมากขึ้น
อ้างอิง
Beck, A.T., Rush, A. J., Shaw, B.F. and Emery, G. (1979) Cognitive Therapy of Depression. New York: Guilford.
Gilbert, P. (1997). Overcoming Depression. London: Robinson.
Hauck, P. (1981). How to Stand Up for Yourself. London: Sheldon.
Lange, A.J. and Jakubowski, P. (1976). Responsible Assertive Behavior: Cognitive Behavioral Procedures for Trainers. Champaign, IL: Research Press.
Palmer, S. And Dryden, W. (1995). Counseling for Stress Problems. London: Sage.
=====
บทความนี้และรูปภาพทั้งหมดเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียนและบริษัท อาร์ทิพาเนีย จำกัด