Family Caregivers ผู้ดูแลในครอบครัว

Published on
Nov 21, 2023
|
By
|
1
mins read

เพื่อนอเมริกันมาบอกว่าเดือนพฤศจิกายนนี้ สำหรับประเทศเขา เป็นเดือนแห่งผู้ดูแลในครอบครัวแห่งชาติ (National Family Caregivers Month) ซึ่งพวกเขาให้ความสำคัญมาก ๆ
กับสุขภาพใจกายของผู้ดูแลคนในครอบครัวที่ป่วย สูงวัย หรือช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ผู้เขียนมาสังเกตดูว่า เพื่อนฝูงและคนรู้จัก หลาย ๆ คนต่างเริ่มเข้าสู่หน้าที่นี้กันบ้างแล้ว
และคงจะตามมากันอีกหลายคนเลยรวมทั้งตัวผู้เขียนด้วย เลยลองรวบรวมข้อมูลมาฝากกันค่ะ

สิ่งที่ผู้ดูแลสามารถทำได้เพื่อให้ทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ และดีต่อทั้งตนเองและผู้รับการดูแล เช่น

Family caregivers


  • Connect การได้ติดต่อพูดคุยกับผู้ดูแลหรือผู้ที่เคยทำหน้าที่นี้มาก่อน จะทำให้เราไม่รู้สึกโดดเดี่ยวนัก เพราะทุกคนต่างเข้าใจสิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่ รวมถึงสามารถให้คำแนะนำและความช่วยเหลือต่าง ๆ ได้
  • Self-care ดูแลตัวเองให้แข็งแรง เพื่อให้สามารถเป็นผู้ดูแลได้อย่างเต็มที่
  • Resting well การเป็นผู้ดูแลเป็นหน้าที่ที่ค่อนข้างหนัก ควรพักผ่อนให้เพียงพอ หากไม่มีเวลาพักยาว ๆ ก็ให้พักสั้น ๆ แต่บ่อย ๆ
  • Communicate เรียนรู้วิธีที่จะสื่อสารกับทีมบุคลากรการแพทย์ที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพ
  • Accepting help offers หากมีใครยื่นมือเข้าช่วยเหลือ อย่าเพิ่งรีบปฎิเสธ อาจแจ้งความต้องการแบบเฉพาะเจาะจงไปเลย ว่าอยากให้พวกเขาช่วยเรื่องอะไรบ้าง
  • Observe your feeling สังเกตอารมณ์ของตนเอง หากรู้สึกแย่มาก ให้รีบหาทางปรึกษาแพทย์และขอความช่วยเหลือ อย่าปล่อยทิ้งไว้
  • Give credit to yourself การเป็นผู้ดูแลผู้ป่วย/ผู้สูงวัยในครอบครัว เป็นหน้าที่ที่ไม่ง่ายเลย ดังนั้นอย่าลืมชื่นชมตนเองและให้กำลังใจตนเอง ว่าเราได้ทำหน้าที่ที่มีคุณค่ามาก

ผู้เขียนยังไม่มีประสบการณ์ตรง แต่มีความประทับใจในตัวเพื่อนคนหนึ่งที่ทำหน้าที่ผู้ดูแลคนในครอบครัวช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ซึ่งตอนที่หาข้อมูลนี้ ก็ได้นึกถึงเขา และเมื่อแชร์บทความนี้ไป เขาก็เล่ากลับมาว่า มีบางจุดที่ยังทำได้ไม่ดี เช่น การดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรงกว่านี้ แต่ตัวเขาคนที่มีกำลังใจดีมากอยู่แล้วเป็นปกติ

เขาเล่าเพิ่มเติมว่า การทำหน้าที่ยากเช่นนี้ สิ่งที่จะช่วยได้มากคือการทำด้วย “ความรัก” มีความเต็มใจและยินดีที่จะทำ เพราะเป็นเหมือนขุมพลังที่ทำให้ทำในหลาย ๆ สิ่งที่ไม่เคยคิดว่าจะทำได้ สามารถอดทนได้ การดูแลอีกฝ่ายที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ทางกาย ก็ไม่ได้แปลว่าอีกฝ่ายจะตอบสนองกลับมาหาผู้ดูแลด้วยความรักไม่ได้ เพราะหากยังตอบสนองต่อกันได้ ผู้ป่วยเป็นผู้ที่มีสุขภาพจิตใจที่ดี ก็เป็นแรงใจและสนับสนุนผู้ดูแลได้เช่นกัน

และในการทำหน้าที่ผู้ดูแล ใช่ว่าจะไม่มีความสุขหรือจะมีแต่ความทุกข์ กลับเป็นว่ามันสร้างความสุขให้ได้มาก เพราะในช่วงเวลาที่เหลืออยู่อันจำกัดนี้ ที่ทั้งผู้ดูแลและผู้ป่วยได้ใช้เวลาร่วมกัน คือการสร้างความทรงจำร่วมกันกับคนรักก่อนที่จะจากกันไป ซึ่งจะหาสิ่งใดมาทดแทนไม่ได้เลย


ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ดูแล family caregivers ทุกคนค่ะ


====

บทความนี้และรูปภาพทั้งหมดเป็นลิขสิทธิ์ของบริษัท อาร์ทิพาเนีย จำกัด

Contact